นานๆ ถึงจะมีปรากฏการณ์หนังสือที่เขียนโดยผู้หญิง ว่าด้วยเรื่องความรู้สึกของผู้หญิงจริงๆ ขายดีโด่งดังติดอันดับ New York Times Bestsellers อย่างถล่มทลายจนกลายเป็นภาพยนต์ ปกติพอรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผุ้หญิงแล้ว สุภาพบุรุษก็จะขยาดหนีไปโดยอัตโนมัติ ผู้หญิงบางคนที่ไม่อยากจะเอาเรื่องเครียดมาสุมหัวเพิ่มก็จะส่ายหัวหนี แต่เรื่อง Eat Pray love ของ Elizabeth Gilbert แก้ปัญหานี้ไปได้ เพราะเธอรู้ทางคนอ่านว่าไม่ชอบอะไร นิยายเรื่องแรกของเธอ “The Last American Man” เป็นเรื่องแบบผุ้ชายๆ ที่ผู้หญิงก็อ่านได้ และสำหรับเรื่องที่สอง เธอก็หันมาเขียนเรื่องของผู้หญิงๆ ท่ีผู้ชายก็อ่านสนุกได้เช่นกัน
Eat Pray Love เป็นเรื่องราวแนว Coming of Age ของสาววัย 30 ที่ตอนแรกสับสนในความต้องการของตนเอง ยังทำใจไม่ได้ว่าอะไรจะทำให้เธอมีความสุข เธอจึงตัดสินใจขอเวลานอก ขอใช้เวลาท่องเที่ยวหนึ่งปี เพื่อให้เวลาตัวเองทำในสิ่งที่สนใจอยากจะทำจริงๆ นั่นก็ตามชื่อเรื่องคือการกินๆ ๆ ให้สะใจในอิตาลี ประเทศที่อาหารเป็นสิ่งส่งออกทั่วโลก การไปฝึกสมาธิวิปัสสนาแบบไม่ต้องเกรงใจใครที่อินเดีย ประเทศที่มีกูรู หรือที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณแทบทุกแคว้น และการขอเวลาทดสอบสมการใหม่ หาจุดที่พอดีของโลกแห่งธรรมและการดำเนินชีวิตประจำวันที่บาหลี เมืองที่เทพ เทวดามีบทบาทในแทบทุกสถาการณ์ของชีวิต
เรื่องนี้เป็นนิยายกึ่งบันทึกไดอารี่ กึ่งท่องเที่ยว กึ่งนิยายรัก คิดว่าคนเขียนคงวางกรอบท้องเรื่องมาก่อน ว่าอยากเขียนเรื่องการเดินทางไปตามนี้ก่อน แล้วก้ต้องใส่เหตุผลให้มัน ต้องระวังไม่ให้มันขัดกันเองไปมา ไม่อย่างนั้นนางเอกจะกลายเป็นคนโลเล แล้วคนอ่านรำคาญว่ายัยนี่ทำไมน่ารำคาญจัง
วิกฤตในชีวิตของนางเอกก็คือการอยากเลิกกับแฟนหนุ่มที่ขอเธอแต่งงาน เพราะไม่แน่ใจว่าเขาคือคนที่ใช่หรือเปล่า ซึ่งการทำอย่างนี้ยากมากที่จะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามจนสงสารเห็นใจเธอได้ แต่ด้วยโทนของการโอดครวญ ความสับสน และที่สำคัญคืออารมณ์ขันของเธอ ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าเธอเป็นนางมารร้ายขี้บ่น แต่เห็นใจกับความกลัวของเธอ ซึ่งอาจตรงกับความกลัวของสาวๆ หลายๆ คนก็ได้ ถึงตอนนี้ก็คงมีคนอ่านมองว่าตนเหมือนนางเอกเรื่องแล้วก็ได้
เธอไปอิตาลีทั้งที่ไม่ได้รู้จักใครที่นั่น ด้วยจุดมุ่งหมายว่าอยากกินของอร่อยให้มากที่สุด อยากไปเรียนภาษา และอยากไปเที่ยว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัย การคบคนท้องถิ่น ทำให้เธอให้เข้าถึงอาหารท้องถิ่นแท้ๆ และได้เข้าใจความละเมียดละไมในการคัดเลือกวัตถุดิบแต่ละอย่าง การลิ้มรสที่ไปที่มาของผักผลไม้แต่ละชนิด ทำให้เธอเข้าใจว่าความสุขที่ได้จากการกิน ในการใช้ชีวิตอย่างใจเย็นๆ คืออะไร ในช่วงนี้เธอยังหวั่นไหว เสียใจและเหงาเพราะเพิ่งเลิกกับแฟน แต่พยายามใช้เวลาวางแผนการกินสุดพิเศษไปทีละมื้อๆ
ที่อินเดียเธอไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ไปถึงปุ๊บก็เข้าอาศรมทันที มีชาวต่างประเทศไปฝึกสมาธิวิปัสสนาหลายคน ผู้เขียนทำให้บทนี้เป็นบทที่ตลกมากบทหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เธอนั่งสมาธิ จิตเธอก็จะคิดโน่นคิดนี่ สับสนวุ่นวายนอกเรื่อง จนเธอต้องสั่งให้มันเงียบบ่อยๆ เธอเศร้าขึ้นและคิดถึงแฟนมากขึ้น แต่การได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องจิตวิญญาน การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนก็ทำให้เธอเกิดความเข้าใจธรรมชาติ โลก และความรักมากขึ้น
และแล้วก็ถึงบาหลี นางเอกเข้าใจตนเองแล้ว เธอตั้งใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ คบคนใหม่ๆ และตู้ม! ก็มีหนุ่มใหญ่มาให้เลือกมากมาย ความสวยงามของบาหลี นิสัยของคนท้องถิ่น ทำให้นางเอกรู้จักปล่อยวาง ความเรียบง่าย ความพอเพียง และการใช้ชีวิตในโลกตะวันออกอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นสิ่งที่สร้างรากฐานใหม่ให้จิตวิญญานของเธอ คนอ่านได้เห็นผู้หญิงคนใหม่ที่สงบนิ่งขึ้น ที่เข้าใจโลกมากขึ้น เธอพบว่าชีวิตมีทางเลือกมากมาย และเธอก็เปิดใจยอมรับมัน มันเป็นจุดจบของเรื่องที่ลงตัว อิ่มเอมและน่าประทับใจ
ข้อคำนึงบางอย่างเมื่อหนังสือที่เต็มไปด้วยข้อคิดและอารมณ์ขันเรื่องนี้จะถูกถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนต์ ตัวตนของนางเอกที่ผู้อ่านสามารถแทนตัวเองเข้าไปในชีวิตเธอได้อาจจะยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนักแสดงสาวที่แสนสวยอย่างจูเลีย โรเบิร์ตมารับบทนี้ ก็มันยากที่จะมีใครสมบูรณ์แบบเหมือนเธอนี่! ในหนังสือตอนต้นที่นางเอกมึนงงสับสน อยากเลิกกับแฟน วิธีเขียนเล่าอารมณ์สามารถทำใหเผู้อ่านเข้าใจและเห็นใจเธอได้ แทนที่จะมองว่ายัยนี่เรื่องมาก น่ารำคาญ แต่ในหนังถ้าทำขั้นนี้ออกมาไม่ดี เสน่ห์ของเธอก็อาจลดลงทันที ตอนกินคงไม่มีปัญหา แต่ตอนนั่งสมาธิและคุยเรื่องจิตวิญญาณก็น่าติดตามนะคะว่าตัวหนังจะทำออกมาได้มีสีสันเท่าในหนังสือหรือเปล่า