อยู่มาวันหนึ่งก็นึกอยากรีวิวหนังสือขึ้นมาอีก ก็ไปด้อมๆ มองที่ชั้นหนังสือของตัวเอง เพ่งแล้วเพ่งอีกก็ตัดสินใจไม่ได้เสียที ตาก็เหลือบไปที่ชั้นดีวีดีเข้า เห็นหนุ่มหล่อแบรด พิท ในชุดสั้นสุดเซ็กซี่ ก็ตัดสินใจเอาเรื่องทรอยนี่แหละ ไหนๆ ก็เป็นถึงต้นฉบับของวรรณกรรมทั้งปวงในโลกตะวันตกแล้ว
ทรอยหรือชื่อจริงคือ เดอะ อีเลียต โดยมหากวีตาบอดโฮเมอร์ เป็นกาพย์เรื่องแรกของวัฒนธรรมในซีกโลกตะวันตก ด้วยความเก่าแก่กว่าพันปี ทำให้ที่มาของมันคลุมเครือ ทำให้ผู้ศึกษาได้หาเหตุผลมาถกเถียงกันจนทุกวันนี้ เช่นโฮเมอร์มีตัวตนจริงหรือเปล่า มันเป็นประวัติศาสตร์โบราณของอารยธรรมในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียนจริงๆ ใช่ไหม เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและโบราณคดี หรืิอมันเป็นนิทานยอดฮิตของทุกครัวเรือนที่เล่าต่อๆ กันมาเรื่อยๆ จนผิดเพี้ยนขึ้นเรื่อยๆ
เอาเถอะ มาพูดถึงฉบับกาพย์ที่ถูกแปลและอ่านในวงกว้างของโรเบิร์ต เฟกัลเลยละกัน
มหาสงคราม10 ปีระหว่างเมืองทรอยและพันธมิตรชาวกรีกถูกเล่าผ่านผู้เล่าที่สามารถเข้าถึงจิตใจของตัวละครทุกตัว ทั้งเทพ ทั้งเหล่าวีรบุรุษแห่งสงคราม สาวงาม และข้าทาสได้
เนื้อเรื่องหลักคือชีวิตของทหารช่วงสงคราม การวางแผน การพูดถึงทำเลสมรภูมิ ความเก่งกาจของขุนศึกศัตรู ความศรัทธาอันแรงกล้า และความรัก (ในเรื่องนี้ความรักจะทำให้คนเลิกสู้ แต่หน้าที่ ศักดิ์ศรี ความเกลียดและความแค้นทำให้ลุกขึ้นสู้)
กาพย์จะสะท้อนภาพความโหดร้ายของมนุษย์ ความดิบเถื่อนในสันดาน ความอยุติธรรมของเทพ เหตุผลที่ไม่เข้าท่า และเสียงสะท้อนของความรันทดเศร้าใจเป็นหลักใหญ่ คืออ่านแล้วเหนื่อย มันมืด มันเศร้าน่าดู
จำได้ว่าตอนอ่านครั้งแรกสิบกว่าปีที่แล้ว จะมีตัวเอก มีวีรบุรุษเก่งกล้าที่เราเอาใจช่วย แต่ตอนนี้อ่านแล้วเสียงของคนแพ้มันมันชวนให้สลด และในสงครามที่ยาวถึง10 ปี คนแพ้มันก็มีอยู่ในทั้งสองฝ่าย และเมื่อสยบศัตรูจนราบเรียบได้ มันก็ไม่เหลืออะไรให้ถือครองแล้ว นอกจากชีวิตของคนที่คร่าไป ฝ่ายชนะเองก็มีแค่หยิบมือเดียวที่ได้กลับบ้านเรียบร้อย แต่สุดท้ายคนก็ต้องตายทุกคน
เฮ้อ…ไปๆ มาๆ 1,000 กว่าปีแล้ว มนุษย์เลิกเอาความเกลียดเป็นที่ตั้งได้หรือยัง
สรุป เป็นเรื่องที่น่าอ่าน ควรอ่าน ถ้าไม่ซีเรียสจะสนุก ถ้าคิดมากจะสงสารใครต่อใคร
Image from http://hmichaelcho.blogspot.com/2009/03/iliad-cover-chapter-22-chapter-24.html